สร้างสรรค์ผลงาน โดย อาจารย์ประวิทย์ ฤทธิบูลย์
สาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ข้อมูลการสร้างสรรค์ผลงาน
การสร้างสรรค์การแสดงชุด “แห่หางหงส์ ธงตะขาบ” เป็นการนำแนวคิด และแรงบันดาลใจมาจากองค์ประกอบที่อยู่ในประเพณีเข้ามาวิเคราะห์ ตีความหมายและค้นหาคุณค่าในคติชน ความเชื่อ และขั้นตอนของประเพณีออกมาเป็นชุดการแสดง โดยแบ่งออกเป็นช่วงที่ 1 “รวมจิตรอาสา” ช่วงที่ 2 “ศรัทธารามัญ” และช่วงที่ 3 “สังสรรค์ประเพณี” ซึ่งดนตรีที่ใช้ในการประกอบการแสดง ชุด “แห่หางหงส์ ธงตะขาบ” นี้จะใช้ปีพาทย์ในลักษณะเครื่องใหญ่โดยจะแบ่งท่วงทำนองออกเป็น 3 ช่วง ซึ่งในแต่ละช่วงจะมีอัตราจังหวะ 3 ชั้น 2 ชั้น และชั้นเดียว การแต่งกายได้นำรูปแบบการแต่งกายของชาวมอญมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมในการแสดง โดยมีการดัดแปลงวัสดุที่ใช้ และเพิ่มลวดลายเชิงสไบของผู้ชาย และเชิงผ้านุ่งของผู้หญิง โดยนำมาจากลายขนมผิงที่เป็นลายสถาปัตยกรรมที่ฉลุไม้ประดับตกแต่งตามช่องลมเหนือประตู และหน้าต่าง ศูนย์ประวัติศาสตร์เมืองปทุมธานี (ศาลากลางหลังเก่า) ในส่วนของอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบในการแสดงก็จะประกอบไปด้วย เสาหงส์ และธงตะขาบ โดยผู้วิจัยจะยึดรูปแบบดั้งเดิมของเสาหงส์ และธงตะขาบไว้อยู่ แต่จะปรับขนาด น้ำหนัก และวัสดุที่ใช้เพื่อให้เหมาะสมในการแสดง ท่ารำที่ใช้ประกอบในการแสดงชุด “แห่หางหงส์ ธงตะขาบ” จะเป็นรูปแบบของการใช้ภาษาท่าทาง อากับกิริยาตามธรรมชาติ ภาษาท่าทางนาฏศิลป์ไทย และท่ารำแม่บทของการรำมอญ เพื่อนำเสนอให้เห็นรูปแบบ และการสื่อความหมายที่เข้าใจได้อย่างชัดเจน
สร้างสรรค์ผลงานโดย อาจารย์สุชีรา อินทโชติ สาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ข้อมูลการสร้างสรรค์ผลงาน
การศึกษาประวัติเป็นมาของจังหวัดปทุมธานีทำให้พบว่ามีความโดนเด่นทางด้านเชื้อชาติไทยและเชื้อชาติมอญที่เป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งที่สามารถสื่อถึงระบบวิถีดำเนินชีวิต แหล่งที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ การนับถือศาสนา ความเชื่อ การเอื้อเฟื้อต่อกันและการอยู่ร่วมกันในสังคม ในปัจจุบันนี้ชาวไทยและชาวมอญอยู่ร่วมกันจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้อาจเป็นเพราะการเชื่อมสัมพันธ์กันด้วยการแต่งงานระหว่างคนไทยและคนมอญและวิถีความเป็นอยู่ การนับถือศาสนาก็ไปในทางเดียวกัน จึงเป็นการง่ายที่ชนชาวไทยและชนชาวมอญจึงสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยง่าย จากการศึกษาอัตลักษ์ของชนชาวไทยและชนชาวมอญ จังหวัดปทุมธานีทำให้ผู้วิจัยจึงเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์การแสดงชุดระบำไทย – มอญนครปทุม เพื่อสื่อให้เห็นให้เห็นถึงคุณลักษณะ วิถีชีวิตในการอาชีพของทั้ง 2 เชื้อชาติ อีกทั้งการแสดงจะสื่อถึงความสามัคคีความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันจนกระทั่งปัจจุบัน จนเกิดเป็นอัตลักษณ์ที่เป็นคุณลักษณะของจังหวัดปทุมธานีที่ได้ชื่อว่าคนไทย เชื้อสายมอญในปัจจุบัน รูปแบบการแสดงสร้างสรรค์ชุดระบำไทย – มอญ นครปทุมมีการแบ่งรูปแบบการแสดออกเป็น 3 ช่วง ช่วงที่ 1 เป็นการแสดงออกถึงคุณลักษณะในการแต่งกายที่มีความแตกต่างระหว่างชาวไทยและชาวมอญ โดยมีท่วงทำนองผสมผสานระหว่างทำนองเพลงไทยและทำนองเพลงมอญ ช่วงที่ 2 เป็นการแสดงที่สื่อถึงการประกอบอาชีพของทั้ง 2 ชนชาติ โดยท่วงทำนองจะแบ่งเป็นช่วงทำนองเพลงไทยและทำนองเพลงมอญ ช่วงที่ 3 เป็นการแสดงถึงการอยู่ร่วมกันของทั้งสองชนชาติ ทำนองเพลงจะเป็นการผสมประสานระหว่างเพลงไทยและเพลงมอญ การแต่งกายเป็นการนำรูปแบบการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของชนชาวไทยและชาวมอญมาสร้างสรรค์ให้เกิดความสวยงามตามลักษณะและรูปแบบการแสดง
อาจารย์ ศิรดา พานิชอำนวย สาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อาจารย์ผู้ควบคุมดูแลการแสดง
ข้อมูลการสร้างสรรค์ผลงาน
การแสดงนาฏศิลป์ไทยสร้างสรรค์ ชุดระบำรัตนปทุมธานี ได้แนวคิดจากการศึกษาประวัติความเป็นมา ศิลปวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์มอญในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน บ้านเรือน ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช ณ เมืองสามโคก ในสมัยรัชกาลที่2 ได้ทรงพระราชทานนามเมืองสามโคกให้เป็นสิริมงคลใหม่ว่า “ประทุมธานี” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่6 ได้ทรงใช้คำว่า”จังหวัด”แทนคำว่า “เมือง” และเปลี่ยนการเขียนใหม่เป็น “จังหวัดปทุมธานี” ขึ้นอยู่กับมณฑลกรุงเก่า แบ่งเขตปกครอง 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางกะดี อำเภอสามโคก และอำเภอเชียงราก ภายหลังได้ย้ายอำเภอเชียงราก เปลี่ยนเป็นอำเภอลาดหลุมแก้ว จวบจนสมัยรัชกาลที่7 ทางราชการให้ยุบจังหวัดธัญบุรีและรวบรวมพื้นที่การปกครอง 4 อำเภอ เมื่อ พ.ศ.2475 จึงทำให้จังหวัดปทุมธานี มีเขตการปกครอง 7อำเภอ อันได้แก่ อำเภอบางกะดี อำเภอสามโคก อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอธัญบุรี อำเภอลำลูกกา อำเภอบางหวาย(ปัจจุบันเรียกอำเภอลำลูกกา) และอำเภอหนองเสือ จวบจนปัจจุบัน
จากการศึกษาจึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการธำรงรักษาเรื่องราวจากอดีตสู่ปัจจุบันและความเป็นอัตลักษณ์ของชาวมอญจังหวัดปทุมธานี โดยทำการเล่าเรื่องราวในรูปแบบการแสดง แนวคิดการสร้างสรรค์ การแสดงยึดรูปแบบการแสดงแบบระบำหมู่ ทำการแต่งบทและบรรจุเพลงสำเนียงมอญ และนำท่ารำมอญ 13 ท่าของชาวมอญจังหวัดปทุมธานี มาร้อยเรียงท่วงทำนองเพลงมอญโดยใช้หลักการจินตนาการ และหลักการนำท่ารำเก่ามาพัฒนาให้เกิดท่ารำใหม่ ผสานการตีบทตามแบบแผนนาฏยศัพท์และภาษาท่านาฏศิลป์ไทยตามคำร้องและท่วงทำนองเพลงมอญ
การออกแบบเครื่องแต่งกายและทรงผม นำหลักการแต่งกายตามแบบวัฒนธรรมของชาวมอญจังหวัดปทุมธานี นำมาออกแบบเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความงดงามในรูปแบบการแสดงนาฏศิลป์ไทย