ระบบการเรียนรู้ออนไลน์ (E-Learning) เรื่อง โขนวิทยา: ศาสตร์ ศิลป์ ถิ่นสยาม เป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบสื่อบทความอิเล็กทรอนิกส์ โดยเนื้อหาในบทความฉบับนี้ผู้เขียนต้องการนำเสนอให้เห็นถึงองค์ความรู้ทางด้านโขน ที่เป็นมรดกอันทรงคุณค่าและเป็นนาฏกรรมชั้นสูงที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มีระเบียบแบบแผน เป็นศิลปะและมหรสพประจำชาติที่มีมาแต่โบราณ ด้วยเหตุว่าโขนเป็นการแสดงที่รวมศาสตร์ และศิลป์อันเป็นเอกลักษณ์ของไทยไว้ในการแสดงมากที่สุด การแสดงโขน จึงมีขั้นตอนในการแสดงที่ละเอียด และประณีต ตั้งแต่ผู้แสดง การแต่งกาย บทโขน บทร้อง ทำนองเพลง บทพากย์และเจรจา ตลอดจนเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบ จึงมีความจำเป็นที่ผู้ที่จะเรียนศิลปะการแสดงทางด้านโขน หรือผู้ที่สนใจในการศึกษา และต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานก่อนการรับชมการแสดงในโอกาสต่างๆ โดยผู้เขียนได้สังเคราะห์องค์ความรู้มาจากหนังสือ ตำรา เอกสารทางวิชาการ และงานวิจัยพบว่า โขนมีการสืบทอดและพัฒนาการสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์มาอย่างต่อเนื่องทุกยุคทุกรัชสมัย เป็นเครื่องราชูปโภคที่แสดงถึงความเป็นอารยะและศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ โดยมีการสืบทอดรูปแบบการแสดงจากอดีตที่เป็นแบบแผนทั้งในการฝึกหัดและวิธีการแสดงโขน โดยใช้ระบบเข้าขุนมูลนายเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง จึงทำให้เกิดมีโขนหลวง โขนเจ้าขุนมูลนาย โขนของเอกชน ต่อมาได้มีระบบหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องโขนมาจนถึงปัจจุบัน คือ กรมศิลปากร อีกทั้งยังได้มีการใช้ระบบการศึกษาเข้ามามีส่วนในการสืบทอด ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา จนกระทั้งการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์สืบสานศิลปะของการแสดงโขน